ความรู้เกี่ยวกับผดุงครรภ์ไทย |
|
|
|
เขียนโดย อ.อุไรรัตน์ สิงหนาท-Webmaster
|
หน้า 2 จาก 2 พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเกิดของชาวมุสลิมในภาคใต้ของไทย มือแลแงปือโฆะ (ลูบไล้ครรภ์) ปือตาวาปือโฆะ (ทำลายอาถรรพณ์) เมื่อครรภ์ครบ 7 เดือน เจ้าของครรภ์จะเตรียมรับพิธีลูบไล้ครรภ์และทำลายอาถรรพณ์จากหมอตำแย โดยเตรียมอุปกรณ์ อันได้แก่มะพร้าวแก่ๆ 3 ผล ผลหนึ่งปอกเปลือกออกหมดขูดผิวกะลาให้เกลี้ยง อีก 2 ผลไม่ปอกเปลือก แต่เฉาะและฉีกเปลือกออกเล็กน้อยโดยไม่ขาดจากผล เอาเปลือกที่ฉีกผูกกันเพื่อให้มะพร้าวทั้งสองติดเป็นคู่ เมื่อถึงวันข้างแรม เจ้าของครรภ์จะจัดหุงข้าวเหนียว และปลาเค็มย่างไฟเตรียมไว้ แล้วเชิญหมอตำแยที่ตนฝากท้องไว้ พร้อมด้วยโต๊ะลือบา (ผู้ทรงคุณวุฒิทางศาสนา) มาร่วมกระทำพิธีที่บ้านของตน หลังจากนั้นหมอตำแยก็จะทำพิธีให้แก่หญิงมีครรภ์ โดยนำมะพร้าวผลที่ปอกเปลือกขูดผิวกะลาเรียบร้อยแล้วชโลมด้วยน้ำมันเยิ้มทั่วทั้งผล วางลงบนหน้าท้องของหญิงมีครรภ์กลิ้งผลมะพร้าวไปทั่วบริเวณครรภ์เป็นระยะ และท่องคาถา กล่าวกันว่า เป็นคาถาที่ให้ผลในการขจัดอุปสรรคต่างๆในการคลอด หลังจากนั้นนำมะพร้าว 2 ผลวางไว้ปลายเท้าและให้หญิงมีครรภ์เหยียดขาถีบมะพร้าวให้กระเด็นออกไป 3 ครั้ง สำหรับมะพร้าวที่ใช้ในการลูบไล้ครรภ์นั้น หมอตำแยจะจัดการผ่าออกเป็น 2 ซีก แล้วมอบให้เจ้าบ้านได้ไว้ขูดคั้นกะทิ เคี่ยวเป็นน้ำมันเก็บไว้ใช้ชโลมท้องในเวลาคลอด พิธีลูบไล้ครรภ์และทำลายอาถรรพ์นี้ นิยมกระทำเพียงท้องแรกเท่านั้น การคลอด เมื่อถึงกำหนดคลอด ก่อนคลอดเจ้าของครรภ์ต้องเตรียมเครื่องบูชาหมอเช่นกัน อันประกอบด้วยด้ายดิบ 1 ขด ข้าวสารเล็กน้อย หมาก พลู และเงินบูชา ใต้ถุนตรงที่จะคลอด จัดหาหนามมาสุมไว้ กล่าวกันว่า เป็นการป้องกันพวกผีเข้ามาดูดกินเลือดที่ตกลงไป อันจะเป็นเคราะห์กรรมให้แก่แม่และลูกได้ ดาโปบือดีแย (อยู่ไฟ) เมื่อหญิงผู้คลอดทำการคลอดเสร็จแล้ว ก็ขึ้นไปนอนบนแคร่ไม้ไผ่ซึ่งวางเตรียมไว้ เพื่อผิงไฟจากเตาไฟที่วางอยู่บนพื้นข้างแคร่ในระดับท้องของผู้คลอด เตาไฟดังกล่าว มีลักษณะเป็นกะบะสี่เหลี่ยม ทำด้วยแผ่นไม้กระดาน หรือใช้ทางมะพร้าตรึงด้วยลูกสลัก ภายในอัดด้วยดินเหนียว บางทีก็ผสมด้วยแกลบ อยู่ไฟได้ 3 วัน หมอตำแยก็จะนวดเคล้าท้องให้ เรียกว่าแต่งท้อง อาหารสำหรับผู้คลอดในระยะอยู่ไฟนั้น ต้องจำกัด โดยมากเป็นอาหารแห้ง และรับประทานได้แต่น้อยๆ เท่านั้น ระยะในการอยู่ไฟจะกำหนดไม่เกิน 40 วัน แหล่งข้อมูลอ้างอิง ประมูล อุทัยพันธ์. 2532. ฝากไว้ที่ปัตตานี. ปัตตานี : ศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
|
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Sunday, 12 August 2012 )
|